ยินดีต้อนรับทุกๆท่าน Welcome to...



วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

001 เปิดใจ๋...“เฮา...เป๋นลูกหลานจาวเหนียเน้อ...”

บรรพบุรุษซึ่งเป็นต้นตระกูลของผมเป็น “จาวเหนีย” (ชาวเหนือ) คุณย่าของผมเป็น “จาวเวียงพิงค์” (ชาวเชียงใหม่) คุณพ่อเป็น “จาวหละปูน” (ชาวลำพูน) และคุณแม่เป็น “จาวหละปาง” (ชาวลำปาง) ผมจึงเป็น “จาวเหนีย” โดยกำเนิดอย่างแท้จริงร้อยเปอร์เซ็นต์

“หละปูน” เป็นบ้านเกิดเมืองเกิดของผม เป็นเมืองเล็ก ๆ มีเนื้อที่อาณาเขตไม่กว้างขวางนัก ตั้งอยู่ทางทิศใต้ห่างจากตัวเมือง “เชียงใหม่” ลงมา 21 กิโลเมตรเท่านั้นเอง ซึ่งดึกดำบรรพ์ท่านบรรพบุรุษในอดีตกาลท่านเรียกเมือง “หละปูน” ว่า “หริภุญไชย” หรือ “หริภุญชัย” (ปัจจุบันทางราชการเรียกว่า “จังหวัดลำพูน”) ซึ่งมีพระบรมธาตุ “หริภุญชัย” เป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวเมือง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล และประดิษฐานอยู่บนฝั่งตะวันตกของ “แม่น้ำกวง” หรือเรียกกันจนติดปากชาวเมืองว่า “น้ำแม่กวง” สายเลือดเส้นใหญ่ของจังหวัดลำพูนดินแดนแห่ง “ลำไยกะโหลก” เนื้อหนา รสหวานกลมกล่อม หอมอร่อย ซึ่งจัดว่าเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดอีกพันธุ์หนึ่งของประเทศไทยก็ว่าได้

โดยปรกติคุณย่าของผมท่านชอบทำกับข้าว ฝีมือหรือรสมือของท่านจัดได้ว่าอร่อยถูกปากคนกินเลยทีเดียว จนเป็นที่เลื่องลือไปทั้งจังหวัด และดูเหมือนท่านจะมีความสุขมากที่สุดที่ได้ทำกับข้าวให้ใครต่อใครได้กินได้รับประทานกันด้วยความเอร็ดอร่อย

เมื่อสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาสมัยผมยังเป็นเด็ก คุณย่าของผมท่านจะมีเมตตา “เดินสาย” ไปทำกับข้าวให้บรรดาลูก ๆ หลาน ๆ ของท่านได้กินกันที่บ้านเดือนละครั้งสองครั้ง โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เพราะคุณย่ามีลูกหลายคน (รวมทั้งคุณพ่อของผม) ท่านรักลูก ๆ ของท่านเสมอหน้ากัน ซึ่งแต่ละคนต่างก็ออกเรือนแต่งงานแต่งการมีเหย้ามีเรือนมีลูกมีเต้าเรียบร้อยกันไปแล้ว

ทุก ๆ วันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการและเป็นวันหยุดของโรงเรียนด้วย คุณย่าของผมท่านจะเข้าตลาดซื้อหาของกินของใช้ขนมนมเนยสารพัดจิปาถะ แล้วหอบพะรุงพะรังเดินเข้าบ้านของลูก ๆ ซึ่งปลูกอยู่ห่างกันคนละทิศละทาง แต่ก็อยู่ภายในตัวอำเภอเมืองลำพูนนั่นแหละ เริ่มกันตั้งแต่เช้ามืดบรรดาลูก ๆ หลาน ๆ ยังนอนอุตุอยู่บนที่นอนกันอยู่เลย

ถ้าวันอาทิตย์ไหนถึงรอบมาที่บ้านของเรา ผมจะอาสาเป็นลูกมือช่วยคุณย่าทำกับข้าวจนแล้วเสร็จ คุณย่าจึงรักผมมากกว่าใคร ๆ (หลงตัวเอง) ท่านออกปากชมบ่อย ๆ ว่า ผมเป็นคนใช้ง่ายใช้คล่อง และว่องไว (เพราะคุณย่าให้สตางค์)

หลังจากผมเรียนหนังสือจนจบชั้นสูงสุด (ในสมัยนั้น) ของจังหวัดแล้ว ปี พ.ศ. 2506 ผมได้รับโอกาสจากท่านผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือให้ไปฝึกงานที่ นสพ. “ไทยเหนือ” โรงพิมพ์ “สงวนการพิมพ์” จังหวัดเชียงใหม่ ได้ฝึกงานและกินนอนอยู่ที่นั่นสองปีเต็ม ๆ ซึ่งท่านเจ้าของ ผู้จัดการ และบรรณาธิการ คือ คุณสงวน โชติสุขรัตน์ ท่านเป็นนักโบราณคดีเมืองล้านนาด้วย ก็เป็นผู้หนึ่งที่นิยมทำกับข้าวกินกันเอง ฝีมือทำกับข้าวของท่านรสชาติอร่อยไม่บันเบาเหมือนกัน และผู้ช่วยก็ต้องเป็นผมที่รับอาสาอีกตามเคย

จากการที่ผมได้อาสาเป็นลูกมือช่วยทั้งคุณย่าและคุณสงวนทำกับข้าวตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ ทำให้ผมได้เรียนรู้ ได้เห็น ได้สังเกต ได้สอบถามเมื่อสงสัย ได้ทดลองทำเอง แล้วได้จดบันทึกลงในสมุดบันทึกส่วนตัว และได้หยิบเอามาอ่านมาทบทวน ลงมือทำกับข้าวกินเองอยู่เสมอ ๆ ติดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

“คู่มือทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์” เล่มนี้ (ผมขออนุญาตเรียกอย่างนี้ เพราะกระดากที่จะเรียกว่า “ตำรา”) ผมเขียนขึ้นจากประสบการณ์ในการทำกับข้าวด้วยตนเองเกือบจะทุกวัน ตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่จนเกือบจะลาจากโลกใบนี้ไปแล้ว ส่วนหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นส่วนมากที่สุดมาจากความทรงจำในอดีต ที่ได้อาสาเป็นลูกมือช่วยผู้ใหญ่ทำกับข้าวอยู่เสมอ และทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ผมได้ตรวจสอบชำระข้อความบางท่อนบางตอนที่เป็นส่วนสาระสำคัญกับหนังสือ “ตำราทำกับข้าวเมืองเหนือ” เขียนโดย คุณสงวน โชติสุขรัตน์ ซึ่งเป็นบรมครูทางการหนังสือพิมพ์ขั้นปฐมของผม แล้วนำมาคลุกเคล้าผสมผสานเรียบเรียงเขียนขึ้นมาใหม่ในเชิง “เล่าสู่กันฟัง” ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่คนรุ่นใหม่ จะได้นำเอาไปเป็น “คู่มือ” อนุรักษ์การทำกับข้าวของเมืองเหนือ ให้คงอยู่ถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไป โดยคำนึงถึงวิธีการการทำกับข้าวเพื่อให้ทำกันได้อย่างง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร

มีสุภาษิตของชนชาวพื้นเมือง (ชาวเมืองเหนือ) บทหนึ่งว่าไว้ว่า “ของกิ๋นลำ อยู่ตี่คนมัก” มีความหมายว่า “กับข้าวอร่อย อยู่ที่คนชอบกิน” การปรุงกับข้าว รสเปรี้ยวหวานมันเค็มเผ็ดจืดเป็นเสน่ห์ปลายจวักที่ผู้ปรุงต้องปรุงรสตามใจผู้รับประทานเป็นหลัก ไม่ใช่อยู่ที่ “ตำรา” เล่มไหน ๆ เลย

นอกจากนี้ “คู่มือทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์” เล่มนี้ ผมยังได้สอดแทรกเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เกร็ดความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย “ของดีที่เกือบลืม” วิธีทำน้ำผลไม้ต่าง ๆ (ซึ่งได้รวบรวมมาจากหลาย ๆ แหล่ง รวมทั้งได้สอบถามกับบรรดาท่านผู้รู้อีกหลาย ๆ ท่าน แล้วพยายามจดบันทึกไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวที่แสนจะเก่าซอมซ่อเหมือนตัวผมเอง) และรวมถึงการย้อนประวัติศาสตร์การสร้างเมือง “หริภุญไชย” หรือ “หริภุญชัย” ในอดีตกาล ต่อเนื่องไปจนถึงตำนาน “เจดีย์พระบรมธาตุหริภุญชัย” เริ่มกันตั้งแต่ “สมัยพุทธกาล” จนกระทั่งสร้างเสร็จในปีพุทธศักราช 1986

และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้คนไทยท่องเที่ยวในเมืองไทย เพื่อเงินตราจะได้หมุนเวียนอยู่ภายในประเทศของเรา ผมจึงขอถือโอกาสนี้แนะนำสถานที่น่าท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูนเอาไว้ด้วยเพื่อเป็นการชี้แนะหรือแนะนำแก่ท่านผู้อ่านซึ่งอาจจะมีโอกาสแวะไปเยี่ยมเยือน “เมืองหละปูน” กันบ้าง

สำหรับคุณค่าของ “คู่มือทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์” เล่มนี้ (ถ้าหากมี) ผมขอกราบเป็น “กตเวทิตาคุณ” แด่ “จังหวัดลำพูน” ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของผม “คุณยายทวด” “คุณปู่” “คุณย่า” “คุณพ่อ” “คุณแม่” ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของผม และ “คุณสงวน โชติสุขรัตน์” ส่วนข้อบกพร่องต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากความโง่เขลาเบาปัญญาของผมเองนั้น ผมขอน้อมรับไว้ด้วยความยินดีแต่เพียงผู้เดียว

ขอให้ทุก ๆ ท่านที่ได้อ่านหนังสือ “คู่มือทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์” เล่มนี้ จงประสพกับความสำเร็จตามความปรารถนาทุกประการ

ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร
26 กรกฎาคม 2550