ยินดีต้อนรับทุกๆท่าน Welcome to...



วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

011 แก๋งอ่อม

จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดในภาคเหนือของประเทศไทย เพราะมีเนื้อที่ประมาณ 4,505 ตารางกิโลเมตร

พื้นที่จังหวัดลำพูน มีรูปร่างเป็นรูปยาวรีจากทิศเหนือไปทิศใต้ บริเวณกว้างสุด 43 กิโลเมตร ยาวจากเหนือจรดใต้ 136 กิโลเมตร ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นตอนบนของจังหวัด พื้นที่จะเป็นที่ราบ ส่วนพื้นที่ทางด้านตอนใต้ลงไปเต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน จะมีที่ราบอยู่บ้างก็ตามหุบเขาต่าง ๆ เท่านั้น

ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร ทำนา ทำไร่ และทำสวน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสวนลำไย สวนหอม-กระเทียม และสวนผักต่าง ๆ

พื้นที่โดยรวมของจังหวัดลำพูน อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,800 ฟุต มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 4 สาย คือ “แม่น้ำปิง”, “แม่น้ำกวง”, “แม่น้ำทา” และ “แม่น้ำลี้”

“แม่น้ำปิง” ต้นกำเนิดเกิดจากภูเขาในเขตอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ไหลเรื่อยลงมา เป็นแม่น้ำที่กั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน โดยเริ่มจากด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดลำพูน ไหลผ่านอำเภอเมืองลำพูน อำเภอป่าซาง แล้วไหลกลับเข้าสู่เขตจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้งที่อำเภอบ้านโฮ่ง แม่น้ำปิงให้ประโยชน์แก่การเกษตรในเขตอำเภอเมืองลำพูน อำเภอป่าซาง และอำเภอบ้านโฮ่ง

“แม่น้ำกวง” เกิดจาก “ภูเขาผีปันน้ำ” ในเขตอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ไหลเข้าสู่เขตจังหวัดลำพูน ผ่านอำเภอเมืองลำพูนจนไปบรรจบกับแม่น้ำทาและแม่น้ำปิงที่บ้าน “สบทา” อำเภอป่าซาง แล้วไหลไปรวมกับ “แม่น้ำวัง”, “แม่น้ำยม” และ “แม่น้ำน่าน” กลายเป็น “แม่น้ำเจ้าพระยา” ไปในที่สุด แม่น้ำกวงมีความยาวประมาณ 95 กิโลเมตร ให้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมในเขตอำเภอเมืองลำพูน และอำเภอป่าซาง

“แม่น้ำทา” มีต้นกำเนิดมาจาก “ดอยขุนทา” ในท้องที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ไหลเข้าสู่เขตอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำกวงและแม่น้ำปิงที่บ้าน “สบทา” อำเภอป่าซาง แม่น้ำทามีความยาวประมาณ 90 กิโลเมตร ให้ประโยชน์แก่การเกษตรในเขตอำเภอแม่ทา และเขตอำเภอป่าซาง

“แม่น้ำลี้” มีต้นกำเนิดเกิดมาจาก “ดอยขุนกอง” อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน แม่น้ำสายนี้มีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร ไหลผ่านและให้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรในเขตของอำเภอลี้ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน แล้วไหลวกขึ้นไปบรรจบกับแม่น้ำปิงที่บ้าน “สบลี้” ตำบลวังผาง อำเภอป่าซาง

อ่านมาถึงตอนนี้ อาจมีบางท่านตั้งข้อสงสัยว่า ตรงที่แม่น้ำไหลไปพบหรือบรรจบกันนั้น มักจะมีคำว่า “สบ” ทุกครั้ง มันหมายถึงอะไรกัน?

คำว่า “สบ” เป็นภาษาเหนือ มีความหมายว่า “ปากแม่น้ำ” บริเวณที่แม่น้ำตั้งแต่ 2 สายขึ้นไปมาประจบกัน ตรงที่แม่น้ำไหลไปพบหรือบรรจบกันแล้วเรียกว่า “สบทา”, “สบลี้” นั้น ความหมายของมันก็คือ “ปากแม่น้ำทา”, “ปากแม่น้ำลี้” นั่นเอง

เหมือนกับ “แม่น้ำเจ้าพระยา” ไหลออกทะเลที่จังหวัดสมุทรปราการ แล้วเรียกกันว่า “ปากแม่น้ำสมุทรปราการ” หรือ “ปากน้ำสมุทรปราการ” นั่นแหละครับ

จังหวัดลำพูนแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ กับอีก 1 กิ่งอำเภอ ดังต่อไปนี้

อำเภอ “เมืองลำพูน” ไม่ต้องบอกก็ได้นะครับว่าตั้งอยู่ที่ไหน เอาเป็นว่า เมื่อถึงจังหวัดลำพูนแล้ว ก็จะทราบเองโดยอัตโนมัติแหละ

อำเภอ “ป่าซาง” ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองลำพูนลงไปทางทิศใต้ ตามทางหลวงหมายเลข 106 ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร

อำเภอ “บ้านโฮ่ง” อยู่เลยอำเภอป่าซางลงไปอีก ระยะทางห่างจากอำเภอเมืองลำพูน 40 กิโลเมตร (ทางหลวงหมายเลข 106)

อำเภอ “แม่ทา” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองลำพูน ไปตามทางหลวงหมายเลข 11 ระยะทาง 25 กิโลเมตร

อำเภอ “ลี้” อยู่เลยอำเภอบ้านโฮ่งลงไปอีก ระยะทางห่างจากอำเภอเมืองลำพูน 105 กิโลเมตร (ทางหลวงหมายเลข 106)

อำเภอ “ทุ่งหัวช้าง” ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเมืองลำพูน ไปตามทางหลวงหมายเลข 1184 ระยะทาง 105 กิโลเมตร หรืออีกเส้นทางหนึ่ง ลงไปตามทางหลวงหมายเลข 106 แต่ก่อนจะถึงอำเภอลี้ จะมีทางหลวงหมายเลข 1219 แยกออกไปทางด้านทิศตะวันออก ระยะทางประมาณ 105 กิโลเมตรเช่นกัน

อำเภอ “บ้านธิ” ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกแต่ค่อนไปทางเหนือของอำเภอเมืองลำพูน ไปตามทางหลวงหมายเลข 1147 ระยะทาง 26 กิโลเมตร

ส่วนกิ่งอำเภอ “เวียงหนองล่อง” ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอเมืองลำพูน ไปตามทางหลวงหมายเลข 106 เมื่อถึงอำเภอบ้านโฮ่งก็วกกลับขึ้นไปตามทางหลวงหมายเลข 1010 รวมระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อของจังหวัดลำพูน

“ทิศเหนือ” ติดต่อกับอำเภอสารภี, อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

“ทิศใต้” ติดต่อกับอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก

“ทิศตะวันออก” ติดต่อกับอำเภอห้างฉัตร, อำเภอสบปราบ และอำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง

“ทิศตะวันตก” ติดต่อกับอำเภอฮอด, อำเภอจอมทอง, อำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น คือสภาพทั่วไปโดยรวมของจังหวัดลำพูน ครับผม

กับข้าว “ยืนพื้น” ของร้านขายกับข้าวสำเร็จรูปซึ่งมีอยู่หลายเจ้า ที่วางขายอยู่ใน “กาดหมั้ว” มักจะยึดสูตรสำเร็จขายเหมือน ๆ กัน หรืออาจจะเป็นเพราะเป็นกับข้าวที่ชาวเหนือส่วนมากนิยมรับประทานกันก็ได้ เพราะเมื่อขาย “จิ๊นลาบ” ก็ต้องมี “แก๋งอ่อม” ประกบคู่กันมาด้วย จึงมีสุภาษิตบทหนึ่งที่พูดกันจนติดปากของชาวเหนือว่า “หมู่เฮาคนเมือง จิ๊นลาบแก๋งอ่อม” ซึ่งเป็นถ้อยคำใช้เปรียบเทียบถึงความเป็น “ชาวเหนือ” อย่างแท้จริง ไม่ได้ “ดัดจริต” เป็น

เครื่องปรุง “แก๋งอ่อม”

เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว, เนื้อควาย, เนื้อไก่, เนื้อหมู หรือเครื่องในต่าง ๆ เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเพียง 1 กิโลกรัม พริกแห้ง 7-8 เม็ดหรือพริกขี้หนูแห้ง 1 กำมือ หัวหอม 7 หัว กระเทียม 3 หัว ตะไคร้ 2 ต้น ข่า 5 แว่น รากผักชี 4-5 ราก เม็ดผักชี 1 ช้อนชา กะปิดี 1 ช้อนโต๊ะ น้ำมันพืช 2-3 ช้อนโต๊ะ ใบมะกรูด และต้นหอม-ผักชี-ผักชีฝรั่ง

วิธีปรุง “แก๋งอ่อม”

จะ “แก๋งอ่อม” ให้อร่อย ต้องแกงให้เผ็ดนำ “แก๋งอ่อม” แกงได้กับเนื้อสัตว์ทุกชนิด แต่ที่นิยมกันมากเห็นจะได้แก่ เนื้อวัว, เนื้อควาย, เนื้อไก่, เนื้อหมู และเครื่องในวัว, เครื่องในควาย, เครื่องในหมู แต่ถ้าแกงเนื้อสัตว์ล้วน ๆ เช่น เนื้อหมู ส่วนมากจะเลือกเอาเนื้อตรงส่วนน่องของมัน เพราะจะมีเส้นเอ็นขาว ๆ เหมือนพังผืดฝังอยู่ในเนื้อ เมื่อต้มสุกแล้ว เส้นเอ็นที่ว่ามันจะฟูขึ้นมาใส ๆ เวลาเคี้ยวจะเหนียวหนืด ๆ ไม่ละเอียดจนลื่นลงคอไปง่าย ๆ เป็นการเรียกน้ำย่อยในกระเพาะ ทำให้เจริญอาหาร กินข้าวได้มาก ๆ จนพุงกางเลยทีเดียวเชียว

“แก๋งอ่อม” เริ่มตรงที่ เอาเนื้อสัตว์หรือเครื่องในอย่างใดอย่างหนึ่งเพียง 1 กิโลกรัม ล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้น ๆ ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป (กำลังพอดี ๆ) พักไว้ เอาพริกแห้ง 7-8 เม็ด หรือพริกขี้หนูแห้ง 1 กำมือก็ได้ (แช่น้ำจนนิ่ม บีบให้แห้ง) หัวหอม 7 หัว กระเทียม 3 หัว ตะไคร้หั่นฝอย 2 ต้น ข่า 5 แว่น รากผักชี 4-5 ราก เม็ดผักชี 1 ช้อนชา กะปิดี 1 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นนิดหน่อย ใส่ครก แล้วบรรเลงเพลง “สากกะเบือดิสโก้” สักหนึ่งหรือสองยก จนน้ำพริกในครกละเอียดได้ที่ดี ดีขนาดยกสากกะเบือขึ้นมาดม จะหอมชื่นใจ (“คุณย่า” ท่านสอนไว้ว่า ถ้าตำน้ำพริกจนละเอียดได้ที่ดีแล้ว เครื่องเทศที่ใส่ลงไปในครกละเอียดเข้ากันดี น้ำพริกที่ตำก็จะมีกลิ่นหอมละมุน)

เอากระทะใส่น้ำมันพืช 2-3 ช้อนโต๊ะ ตั้งไฟอ่อน พอร้อนเอาเนื้อสัตว์หรือเครื่องในที่หั่นเตรียมไว้ลงไปผัดกับน้ำพริกจนเข้ากัน (ขณะผัดใส่น้ำล้างครกลงไปด้วยครั้งละ 1-2 ทัพพี ผัดไปเคี่ยวไปจนหอมฉุย) เติมน้ำลงไปพอท่วมเนื้อ (ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป) ใส่ใบมะกรูดหั่นฝอย แล้วเคี่ยวไฟอ่อนต่อไปจนเนื้อเปื่อยได้ที่จึงจะอร่อย (อาจจะใส่ “ฟักเขียว” ที่แก่จัดครึ่งลูก หั่นเป็นชิ้น ๆ พอดีคำด้วยก็ได้) ปรุงรสด้วยเกลือป่น รสดี ตักใส่ถ้วยขณะร้อน ๆ โรยหน้าด้วยต้นหอม-ผักชี-ผักชีฝรั่ง หั่นฝอย กลิ่นแกงจะหอมหวนกวน “พยาธิ” จริง ๆ ครับ