ยินดีต้อนรับทุกๆท่าน Welcome to...



วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

028 จิ๊นทอด

ภาพหมู่นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 ข. ปีการศึกษา 2505 (รุ่นที่ 14)
โรงเรียนเมธีวุฒิกร จังหวัดลำพูน

เข้าเมืองกรุงมุ่งศึกษา

ผมจาก “ลำพูน” ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนนับจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) 45 ปีเข้าไปแล้วแต่ก็ใช่ว่าจะจากมาแล้วจากมาเลยนะครับ เพราะพอถึงหน้าเทศกาลต่าง ๆ ในแต่ละปี ผมก็จะกลับไปแวะเวียนและเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ ๆ มิได้ขาด

หลังจากที่ผมเรียนหนังสือจบชั้นมัธยมบริบูรณ์แล้ว ในปี พ.ศ. 2506 ผมมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ นสพ. “ไทยเหนือ” โรงพิมพ์ “สงวนการพิมพ์” จังหวัดเชียงใหม่ ได้ฝึกงานและกินนอนอยู่ที่นั่นถึงสองปีเต็ม ๆ ได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 200 บาท ซึ่งสมัยนั้นนับว่ามากมายพอสมควรสำหรับเด็กฝึกงาน เพราะค่าแรงงานขั้นต่ำที่จังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้นเขาจ่ายกันที่ 8 บาทต่อวัน

“คุณสงวน โชติสุขรัตน์” ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของ-ผู้จัดการ และบรรณาธิการ ท่านเป็นคนมีน้ำใจดี โอบอ้อมอารี และมีเมตตา ท่านอบรมสั่งสอนและถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทั้งทางด้านหนังสือพิมพ์ และงานในโรงพิมพ์แขนงต่าง ๆ ให้แก่ผมเหมือนกับผมเป็นลูกหลานของท่านคนหนึ่ง ท่านสอนให้ผมรู้ซึ้งถึงคุณค่าของการศึกษา และการใฝ่หาความรู้ให้กับตัวเอง ท่านย้ำอยู่เสมอ ๆไม่ให้ผมทิ้งการเรียน และแนะนำให้ผมเอาเวลาว่างหลังเลิกงานตอนเย็นไปเรียนกวดวิชาที่โรงเรียนใกล้ ๆ โรงพิมพ์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในปีถัดไป

สมัยนั้นการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขายังเรียกหรือพูดกันเป็นไทย ๆ ว่า “สอบเข้ามหาวิทยาลัย” หรือหากพูดเพี้ยนรัวลิ้นเร็วไปหน่อยเป็น “หมาลัย” ซึ่งฟังยังไง ๆ ก็ยังเป็นไทย ๆ และมีความหมายอย่างไทย ๆ อยู่ดี ไม่เหมือนเด็ก ๆ ในสมัยนี้ ที่เขาเรียกการสอบเข้ามหาวิทยาลัยว่า “สอบเอ็นทร้านซ์” แล้วตัดทอนให้สั้นลงด้วยการเรียกย่อ ๆ ว่า “สอบเอ็น” ซึ่งหากฟังเป็นภาษาไทย ความหมายเป็นฝรั่งก็ดูดีทันสมัยตามยุค แต่ถ้าความหมายเป็นไทย ผมว่าฟังดูมันขัดหูพิลึกพิกลอยู่นะครับ

สมัยนั้นมหาวิทยาลัยสำหรับผู้ที่เรียนมาทาง “อักษรศาสตร์” ดูเหมือนจะมีเพียง 4 แห่ง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตร และศิลปากร เท่านั้น ส่วนแพทยศาสตร์ไม่มีสิทธิ์เรียน สำหรับตัวผมเองผมสนใจธรรมศาสตร์ เพราะเปิดสอนวิชาการด้านหนังสือพิมพ์ที่ผมได้ฝึกงานและมีประสบการณ์อยู่แล้ว

...เด็กเอ๋ยเด็กน้อย ความรู้เรายังด้อยเร่งศึกษา
เมื่อเติบใหญ่เราจะได้มีวิชา เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน
ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล
ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอยฯ...

ครั้นถึงปลายปี พ.ศ. 2508 ผมจึงกราบเท้าอำลาท่านผู้มีพระคุณ “คุณสงวน โชติสุขรัตน์”เบน “เข็มทิศชีวิต” ของตัวเอง มุ่งหน้าสู่ “กรุงเทพมหานคร” ด้วยปณิธานอันแน่วแน่และแรงกล้า

ต้องสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้จงได้



ในบรรดากับข้าวอร่อย ๆ ที่เป็นเนื้อหมูล้วน ๆ ไม่ว่าจะเอามา ต้ม ปิ้ง ย่าง หรือทอด นอกเหนือจาก “จิ๊นเก็ม” และ “จิ๊นปิ้ง” แล้ว “จิ๊นทอด” ก็จัดว่าอร่อยไปอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน เพราะเป็นกับข้าวที่ทำได้ง่าย ๆ และเก็บไว้ในตู้เย็นได้หลาย ๆ วัน อีกทั้งสะดวกที่จะเป็นอาหารจานด่วนสำหรับผู้ที่มีหน้าที่การงานรัดตัวแทบไม่มีเวลาจะรับประทานข้าว แค่หยุดพักสักประเดี๋ยวเดียว ได้ข้าวเหนียวร้อน ๆ หนึ่งปั้น และ “จิ๊นเก็ม” หรือ “จิ๊นปิ้ง” หรือ “จิ๊นทอด” อย่างใดอย่างหนึ่งเพียง 1 ชิ้นเท่านั้นเอง ก็อร่อยสุด ๆ และอิ่มท้องไปหลายชั่วโมงเชียวแหละ

เครื่องปรุง “จิ๊นทอด”

เนื้อหมูสันนอก 1 กิโลกรัม น้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชสำหรับทอดมากพอสมควร กระเทียม 1 หัว และดินปะสิวทุบละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีปรุง “จิ๊นทอด”

เอาเนื้อหมูสันนอก 1 กิโลกรัม ล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้น ๆ ให้หนาชิ้นละประมาณ 1.5 ซ.ม. ใส่กะละมังใบเล็กพักไว้ กระเทียม 1 หัว ดินปะสิวทุบละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นนิดหน่อย ใส่ครกตำให้ละเอียด แล้วตักใส่กะละมังหมู ใช้มือที่ล้างสะอาดคลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง

กระทะใส่น้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชกะให้พอท่วมหมู 1 ชิ้น ยกขึ้นตั้งไฟ พอร้อนจัดได้ที่จึงใส่หมูที่หมักไว้ลงทอดครั้งละ 1 ชิ้น ทอดไฟอ่อนปานกลางจนกระทั่งหมูสุกได้ที่จะเหลืองหอมน่ารับประทาน ตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟร้อน ๆ กับข้าวเหนียวร้อน ๆ อะหรอย...อร่อย...ครับ