โรงเรียนเมธีวุฒิกร จังหวัดลำพูน
เมื่อสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ระดับประถมรัฐบาลให้เด็ก ๆ เรียนกันแค่ 4 ชั้นเท่านั้นเอง เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 แล้ว ก็จะต้องเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมอีกต่อไป ผมจึงถูกส่งเข้าไปเรียนในโรงเรียนชาย (ระดับมัธยมแยกโรงเรียนชาย-หญิง ไม่เรียนรวมกันเหมือนระดับประถม)
“เมธีวุฒิกร” เป็นโรงเรียนแห่งใหม่ของผม ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณ “วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” เป็นโรงเรียน “บาลี-มัธยม” ที่ได้รับการรับรองวิทยฐานเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาลจากกระทรวงศึกษาธิการ และนักเรียนจะต้องเรียนรวมกับพระภิกษุสามเณรแต่เรียนแยกห้องเรียนกัน (ห้อง ก. ห้อง ข. เป็นห้องเรียนของพระภิกษุสามเณร ส่วนห้อง ค.-ง.-จ. และ ฉ. เป็นห้องเรียนของเด็ก ๆ) ซึ่งทั้งหมดจะต้องศึกษาเล่าเรียนทั้งหลักสูตร “ทางโลก” และ “ทางธรรม”
สำหรับ “ทางโลก” ก็หลักสูตร “ประโยคมัธยมสามัญศึกษาตอนปลาย” ต้องเรียนจนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 จึงจะได้รับประกาศนียบัตรจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ถ้าเรียนแค่ชั้นมัธยมปีที่ 6 ก็จะได้รับประกาศนียบัตร “ประโยคมัธยมวิสามัญศึกษาตอนปลาย” จากกระทรวงศึกษาธิการด้วยเช่นกัน
ส่วน “ทางธรรม” เป็นหลักสูตร “ธรรมศึกษา” สำหรับเด็ก ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ (ตรี-โท-เอก) เมื่อสอบผ่านก็จะได้รับประกาศนียบัตร “ธรรมศึกษา” จากกรมการศาสนาเป็นระดับ ๆ ไป
สำหรับหลักสูตร “บาลี-สันสกฤต” และ “นักธรรม” เป็นหลักสูตรสำหรับพระภิกษุสามเณร “นักธรรม” แบ่งเป็น 3 ระดับ (ตรี-โท-เอก) และได้รับประกาศนียบัตร “นักธรรม” จากกรมการศาสนาเป็นระดับ ๆ ไป ส่วนหลักสูตร “บาลี-สันสกฤต” เมื่อสอบได้ก็จะได้รับสมณศักดิ์ประดับพัดยศตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป (พระมหา)
สำหรับอัตราค่าเล่าเรียนตลอดทั้งปี เก็บในอัตราเดียวกันทั้งพระภิกษุสามเณรและเด็ก ตกปีละประมาณ 200 บาท อัตรานี้สมัยนั้นนับว่าแพงพอสมควรเมื่อเทียบกับราคาข้าวสาร 1 กระสอบ (100 กิโลกรัม) ร้อยกว่าบาทเท่านั้นเอง (ปัจจุบัน พ.ศ. 2550 ข้าวสาร 1 ถัง หรือ 15 กิโลกรัม สองร้อยกว่าบาทเข้าไปแล้ว)
พระภิกษุสามเณรในรุ่นที่ผมเรียนอยู่ด้วยนั้น ส่วนมากท่านจะเรียนเก่ง และเก่งเอามาก ๆ ด้วย บางท่านบางรูปท่านมีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสมีสมณศักดิ์เป็นพระมหาเปรียญธรรม 3-4 ประโยคในตอนบ่าย ๆ หลังจากเรียน “ทางโลก” แล้ว ท่านจะแยกย้ายเป็น “พระครู” ไปสอน “ทางธรรม” ตามชั้นเรียนต่าง ๆ ประกอบกับทางกระทรวงศึกษาธิการเปิดโอกาสให้มีการ “สอบเทียบ” ได้ ท่านก็สอบเทียบวุฒิ “ครู พ.” “ครู พม.” กัน สมัยนั้นจะว่าไปแล้วนักเรียนกับคุณครู “วุฒิ” พอ ๆ กัน
ถ้าวันไหนคุณครูประจำชั้นประจำวิชาติดธุระมาสอนไม่ได้ คุณครูก็จะไหว้วาน “พระครู” ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านนี่แหละให้สอนแทน
เมื่อเรียนถึงระดับชั้นมัธยม เบี้ยเลี้ยงประจำวันของผมก็เขยิบตามไปด้วย ผมได้รับค่าขนมวันละ 75 สตางค์ (ไม่เต็มบาท) อ้าว...อ้าว...อย่าเพิ่งหัวเราะไป นี่ไม่ใช่เรื่องขำขันนะครับ แต่เป็นเรื่องจริงในชีวิตของผม ที่ผมได้สัมผัสมาแล้วเมื่อสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ตอนเรียนหนังสืออยู่ระดับชั้นมัธยม
ราคาอาหารการกินในโรงเรียนระดับชั้นมัธยมก็ยกระดับแพงขึ้นมาอีกหน่อย (ไม่จิ๊บจ๊อยเหมือนระดับประถม) ผมจะยกตัวอย่างเท่าที่จำได้ให้ฟัง (อ่าน) ข้าวผัดซอสมะเขือเทศสีแดงแจ๋ โรยหน้าด้วยไข่เป็ดเจียวบาง ๆ หั่นฝอย ใส่จานแบนขนาดห้านิ้วตักพูนจานสลึงเดียว ถ้าเป็นข้าวสวยราดแกงเผ็ดกะทิไก่หรือหมู ลอยหน้าด้วยใบโหระพา “มะแคว้ง” (มะเขือพวง) ผ่าครึ่ง ก็จานละ 50 สตางค์ ผลไม้ต่าง ๆ ตามฤดูกาล ผลใหญ่ผลละสลึง ผลเล็กก็หลายผลสลึงเช่นกัน ถ้าเป็นพวงยี่สิบกว่าผลขึ้นไปก็พวงละสลึง ข้าวโพดต้มฝักใหญ่ขายฝักละสลึง น้ำแข็งกดแท่งละสลึง แต่ถ้าเป็นน้ำแข็งไสลูกชิดน้ำหวานใส่นมสดขายถ้วยละ 50 สตางค์ ไอติมแท่งละสลึง หวานเย็น (น้ำกะทิผสมกับน้ำตาลปึก ใส่พิมพ์แช่ตู้เย็นพลังน้ำมันก๊าด) ก้อนเท่ากล่องไม้ขีดไฟสองกล่องประกบกันขายก้อนละสลึง
ถ้าวันไหนไม่ได้ห่อข้าวไปจากบ้าน เบี้ยเลี้ยงค่าขนมวันละ 75 สตางค์ ซื้อข้าวซื้อขนมกินก็จะอิ่มพอดี ๆ แต่ถ้าห่อข้าวไปด้วย ซื้อขนมกินอิ่มจนเกือบลุกไม่ขึ้นเชียวแหละคุณ…
“มัวแต่ฝอยอยู่นั่นแหละ เมื่อไหร่มันจะถึงน้ำพริกหนุ่มสูตรสองเสียที (โว้ย)” คุณท่านที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ คงจะนึกรำคาญและหงุดหงิดอยู่ในใจ ครับ...ครับ...ผมกำลังจะวกเข้าไปอยู่แล้ว ใจเย็น ๆ ครับ จะปรุงอาหารให้อร่อย ๆ ต้องใจเย็น ๆ เหมือนน้ำ...เอ้อ...เหมือนน้ำ...ลวกไก่...แหะ...แหะ...อันนี้ผมพูดเล่น ๆ ขออภัย...ขออภัย...
เอาละครับ...ถึงน้ำพริกหนุ่มสูตรสองเสียที ของดี ๆ ของอร่อย ๆ อย่างนี้ ก็ต้องอุบเอาไว้นาน ๆ หน่อย โบราณท่านว่าไว้ “ช้าช้าได้พร้าสองเล่มงาม” ยังทันสมัยอยู่เสมอ มันก็เหมือนดู “ลิเก” นั่นแหละ กว่าพระเอกและนางเอกจะร่ายรำถึงหน้าเวทีให้คนดูได้ชื่นชม ก็แสดงไปเกือบจะครึ่งค่อนเรื่องเข้าไปแล้ว “นายโรง” เขามีวิธี “ยั่ว” ท่านผู้ชมให้เกิดอารมณ์ “อยากดู” ขึ้นมาก่อนเพื่อเรียกน้ำย่อย พอคะเนว่าท่านผู้ชมเริ่มจะ “ตึง” เขาก็จะหย่อนลงนิดหนึ่ง ปล่อยตัวพระเอกหนุ่มรูปหล่อให้ออกมาร่ายรำชายหูชายตาให้ บรรดาท่าน “แม่ยก” ทั้งสาวแก่แม่ม่ายยายแก่แร้งทึ้งทั้งหลายได้ชะเง้อชะแง้สยิวใจเล่น ๆ
แต่ถ้านายโรงเห็นว่าท่านผู้ชมยังไม่หายตึง อาจจะเป็นเพราะพระเอกร่ายรำไม่สวย ความหล่อเหลาน้อยไปหน่อย หรือชายหูชายตาไม่ถึงอกถึงใจพระเดชพระคุณ คราวนี้นายโรงก็จะรีบปล่อย “ไม้เด็ด” ให้นางเอกสาวสวยรุ่นกระเตาะวัยเจริญพันธุ์กำลังเอ๊าะ ๆ รูปร่างอรชรงามบาดจิตติดอุรา ออกมาให้ท่านผู้ชมไม่ว่าหนุ่มหรือแก่หัวหงอกหัวดำหัวขาวเฒ่าหัวงูทั้งหลายให้ตกตะลึงในความงาม สยบอารมณ์ “บ่จอย” ของท่านผู้ชมทั้งหลาย ให้หมดไปภายในพริบตาเดียว…
อนิจจัง...อนิจจา...พุทโธ...ธัมโม...สังโฆ...เฮ้อ...เหนื่อย...
พูดถึงน้ำพริกหนุ่มสูตรสองนี่ น้ำพริกสูตรนี้เป็นของโปรดอันดับที่หนึ่งของคุณแม่ของผมเลยทีเดียว ท่านว่ากินข้าวกับน้ำพริกหนุ่มสูตรนี้พร้อมกับแกล้มต่าง ๆ จะได้สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายครบทั้ง 5 หมู่ เอ้า...ผมแถมให้อีกหนึ่งหมู่ด้วย รวมเป็น 6 หมู่
เริ่มจาก “คาร์โบไฮเดรด” ได้จากข้าว “โปรตีน-ไขมัน” ได้จากเนื้อหมูและแคบหมู “วิตามิน และ เกลือแร่” ได้จากมะเขือเทศ ผักสด ผักต้มต่าง ๆ ส่วนอีกหมู่หนึ่งที่ผมแถมมาด้วยก็คือ “สมุนไพร” ยังไงล่ะ ซึ่งให้สรรพคุณทางยา ได้จากพริกหอมและกระเทียมนั่นเอง เห็นไหมล่ะ ผมว่าของดี ๆ ของอร่อย ๆ ก็ต้องใจเย็น ๆ จริงไหมครับ
เครื่องปรุง “น้ำพริกหนุ่ม” สูตรสอง
หมูสับครึ่งขีด มะเขือเทศสีดา 6-7 ลูก พริกหนุ่ม 10 เม็ด หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว กะปิดี 1 ช้อนชาพูน (หรือปลาร้าตัวเล็ก ๆ 2-3 ตัว) ต้นหอม-ผักชี ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว แตงกวา กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ และแคบหมูตามใจชอบ
วิธีปรุง “น้ำพริกหนุ่ม” สูตรสอง
เครื่องปรุงก็เหมือนกับสูตรหนึ่งนั่นแหละครับ เพียงแต่เพิ่มหมูสับ และมะเขือเทศสีดาลงไปด้วย เริ่มจากเอาพริกหนุ่ม 10 เม็ด หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว เผาไฟจนสุกได้ที่ (หรือจะคั่วในกระทะก็ได้ไม่ต้องใส่น้ำมัน) ลอกเปลือกที่ดำ ๆ ทิ้ง เอาเครื่องปรุงดังกล่าวข้างต้นใส่ครกตำรวมกันจนได้ที่ พักไว้
เอากะปิดี 1 ช้อนชาพูน (หรือปลาร้าตัวเล็ก ๆ 2-3 ตัวแกะก้างออกสับให้ละเอียด แล้วแต่จะชอบอย่างไหน หรือจะใส่ทั้งสองอย่างเลยก็ได้) วางบนหมูสับครึ่งขีดที่วางแผ่บนใบตองซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น ใส่มะเขือเทศสีดา 6-7 ลูกผ่าสี่ลงไปด้วย จัดการห่อใบตอง โดยพับสี่ให้หมู-กะปิ-มะเขือเทศนูนอยู่ตรงกลางห่อ ใช้ไม้กลัดกลัดห่อให้เรียบร้อย เสร็จแล้ววางห่อบนกระทะยกตั้งบนไฟอ่อน ๆ รอจนกระทั่งพื้นใบตองเริ่มไหม้ ก็พลิกกลับเอาด้านบนวางลงไปบ้าง พอใบตองเริ่มไหม้ คะเนให้หมูสุกได้ที่ก็ยกลงและแกะจากห่อเทใส่ในครก ใช้สากบดในครก (ห้ามตำ) ปรุงรสด้วย น้ำปลา รสดี กะให้เค็มนำ เผ็ดตาม หวานธรรมชาติ (ไม่ใส่น้ำตาล)
เสร็จแล้ว ตักใส่ถ้วยโรยหน้าด้วยต้นหอม-ผักชีหั่นฝอย รับประทานแกล้มกับ ผักสด ผักต้มและแคบหมู เช่นเดียวกับสูตรหนึ่งแล