ยินดีต้อนรับทุกๆท่าน Welcome to...



วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

007 น้ำพริกหนุ่ม สูตรหนึ่ง

เมื่อผมเจริญวัยอายุได้ 6 ขวบ คุณแม่ส่งผมเข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนเทศบาลใกล้บ้าน วันแรกที่ไปโรงเรียนผมยังจำติดหูติดตาได้เป็นอย่างดี เช้าวันนั้น “หละอ่อนหน้อย” (เด็กน้อย) ตัวเล็ก ๆ ใบหน้าตื่น ๆ เต็มไปด้วยความตื่นเต้น สวมเสื้อเชิ้ตสีขาวไหล่ตก ตรงหน้าอกด้านกระเป๋าเสื้อปักอักษรย่อชื่อโรงเรียน “ ท.1 ” (เทศบาล 1) ด้วยเส้นไหมสีน้ำเงินเข้ม นุ่งกางเกงขาสั้นสีกากีตัวหลวม ๆ รัดเข็มขัดติ้ว บนหัวสวมหมวกกะโล่สีเดียวกับกางเกงสำหรับกันแดด ที่หัวไหล่สะพายถุงผ้าดิบสำหรับใส่หนังสือเรียนซึ่งก็มีเพียงเล่มเดียวเท่านั้น กำลังเดินลากรองเท้าหนังสีดำปลิวไปตามแรงจูงมือจนเกือบจะฉุดของ “แม่เฒ่า” (คุณยายทวด - ท่านเป็นคุณแม่ของคุณแม่ของคุณแม่ของผม โอ๊ย...ลำดับไม่ถูก)

ใครก็ตามที่ได้เห็นภาพน่ารักเช่นนี้ คงจะอดอมยิ้มไปตาม ๆ กันไม่ได้ แต่ถ้าสังเกตให้ดี ๆ เมื่อมองไปที่เข็มขัดคาดเอวของ “หละอ่อนหน้อย” คนนั้น จะเห็นเชือกสีขาวเส้นเล็ก ๆ ร้อยเรียงเหรียญยี่สิบสตางค์-สิบสตางค์และห้าสตางค์ ซึ่งมีขนาดไม่เท่ากันเรียงซ้อนกันอยู่ ทั้งหมดเป็นเหรียญดีบุกกลมหนา ๆ มีรูตรงกลาง ผูกติดกับหูกางเกงด้านหน้าแน่น ซึ่งคุณยายทวดผูกให้ ท่านบอกผมว่ากลัวเหรียญมันจะหล่นหาย เดี๋ยวจะอดซื้อขนมกินที่โรงเรียน

พูดไปแล้วจะหาว่าผมพูดโกหก เอาเรื่องที่เป็นไปไม่ได้มาพูด ในสมัยนั้นผมได้ค่าจ้างไปเรียนหนังสือวันละ “สามสิบห้าสตางค์” สามเหรียญสามราคาพอดิบพอดี เด็ก ๆ สมัยนี้ได้ยินคงจะหัวร่อจนงอหาย ว่าลุงเอาอะไรมาพูด เงินแค่นี้จะซื้ออะไรได้สักกี่มากน้อย อ้าว...สมัยนั้นเงินมีค่ามากนะครับ เอาละ...ผมจะจาระไนให้ฟัง (อ่าน) กัน

เริ่มกันที่ทอฟฟี่น้ำอ้อยห่อกระดาษแก้วสีขุ่น ๆ ขายอันละ 5 สตางค์ ทอฟฟี่นมอย่างดีอันละ10 สตางค์ มะไฟ, ลำไย ยี่สิบกว่าผลขึ้นไปขายพวงละ 10 สตางค์ มะม่วง, น้อยหน่า 2 ผล 10 สตางค์ มะเฟือง, ละมุด, มะมั่น (ฝรั่งขี้นก) 4-5 ผล 10 สตางค์ พุทรากองโต 10 สตางค์ ข้าวโพดต้มฝักละ 10 สตางค์ น้ำแข็งกดราดน้ำหวานเขียวแดงแท่งละ 10 สตางค์ แต่ถ้าเป็นน้ำแข็งไสลูกชิดน้ำหวานใส่นมสด ถ้วยขนาดพอมือ 20 สตางค์เท่านั้น แล้วยังมีของกินอีกหลาย ๆ อย่างหลาย ๆ ชนิดซึ่งก็ยังนึกไม่ออก ราคาขายก็พอ ๆ กัน 5 สตางค์ 10 สตางค์เท่านั้นเอง

สรุปแล้ว ได้รับค่าขนมไปเรียนหนังสือวันละสามสิบห้าสตางค์ “กินอิ่มตื้อ” เลยทีเดียวเชียว

วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป จนกระทั่งผมเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมปีที่ 4 สมัยนั้นก็มีทัศนศึกษานอกสถานที่เหมือนกันนะครับไม่ได้นั่งรถยนต์ไปเหมือนสมัยนี้ แต่ใช้วิธีเดินไป ก็ทัศนศึกษากลางทุ่งกลางนา จะเอารถยนต์ที่ไหนเข้าไปวิ่งกันล่ะ

คุณครูได้พาพวกเราเหล่า “นักเรียนโค่ง” ของโรงเรียน ไป “แอ่ว” (เที่ยว) อย่าเข้าใจผิดคิดว่าคุณครูจะพาไปเที่ยวสวนสนุกล่ะ สมัยนั้นไม่มีและไม่มีใครรู้จักกันหรอก

คุณครูพาพวกเราไปทัศนศึกษา “แอ่ว” สวนพริกหนุ่มที่หมู่บ้านชื่อ “บ้านยู้” จะต้องเดินข้ามน้ำแม่กวงหรือแม่น้ำกวงไปทางฝั่งตะวันออก แล้วเดินลึกเข้าไปเกือบครึ่งกิโลเมตร เป็นสวนพริกหนุ่มที่มีเนื้อที่กว้างขวาง มองไกลต่อเนื่องจนสุดสายตา ซึ่งเป็นเพราะทุกครัวเรือนต่างสืบทอดอาชีพปลูกพริกหนุ่มตามบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคนตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายโน่นแหละ บ้านยู้จึงเป็นแหล่งปลูกพริกหนุ่มที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดลำพูนในสมัยนั้น

พริกหนุ่มที่ผมพูดถึงนี้ อย่าเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพริกชี้ฟ้านะครับ คนละเรื่องเลยทีเดียวพริกชี้ฟ้าเม็ดเล็กกว่า เวลาหักมาดมจะมีกลิ่นเหม็นเขียวนำ สีพริกก็เข้ม ส่วนพริกหนุ่มสีพริกจะกระเดียดไปทางพริกหยวก เป็นพริกเม็ดใหญ่ แต่ไม่บวมฉุ กลิ่นพริกหอม ไม่ฉุน และไม่เผ็ดมากจนเกินไป ชาวเหนือส่วนมากจึงนิยมเอาไปตำน้ำพริก หรือไม่ก็เอามาผ่าข้างควักเม็ดในออกแล้วเอาหมูสับผสมพริกไทยกระเทียมตำคลุกต้นหอม-ผักชีหั่นฝอยยัดเข้าไปแทนที่ แล้วชุบแป้งทอดกรอบ กินแก้เลี่ยนกับกับข้าวที่มัน ๆ เช่น แก๋งฮังเล เป็นต้น

เครื่องปรุง “น้ำพริกหนุ่ม” สูตรหนึ่ง

พริกหนุ่ม 10 เม็ด หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว กะปิดี 1 ช้อนชาพูน (หรือปลาร้าตัวเล็ก ๆ 2-3 ตัว) ต้นหอม-ผักชี ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว แตงกวา กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ และแคบหมู

วิธีปรุง “น้ำพริกหนุ่ม” สูตรหนึ่ง

เอาพริกหนุ่ม 10 เม็ด หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว เผาไฟจนสุกดี (หรือจะคั่วในกระทะไม่ต้องใส่น้ำมัน) ลอกเปลือกที่ดำ ๆ ทิ้ง กะปิดี 1 ช้อนชาพูนห่อใบตองเผาไฟจนสุก หรือจะทอดในน้ำมันก็ได้ (หรือจะใช้ปลาร้าตัวเล็ก ๆ 2-3 ตัว แกะก้างออกแล้วสับให้ละเอียด ห่อใบตองเผาไฟจนสุกตามแต่จะชอบอย่างไหน หรือจะใส่ทั้งสองอย่างก็ไม่ผิดกติกา) แล้วเอาเครื่องปรุงทั้งหมดใส่ครกตำรวมกันจนเข้ากันดี ปรุงรสด้วยน้ำปลา รสดี กะให้เค็มนำ เผ็ดตาม หวานธรรมชาติ (ไม่ใส่น้ำตาล)

เสร็จเรียบร้อยแล้วตักใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยต้นหอม-ผักชีหั่นฝอย รับประทานแกล้มกับผักสด เช่น ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว แตงกวา ผักต้ม เช่น กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ และของอร่อย ๆ ที่ขาดไม่ได้ต้องเคียงคู่กันมา คือ “แคบหมู” นั่นเอง