ยินดีต้อนรับทุกๆท่าน Welcome to...



วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

012 แก๋งขนุน

“ต้นขนุน” เป็น “ต้นไม้มงคล” ชนิดหนึ่งในหลาย ๆ ชนิด ที่คนโบราณจะต้องปลูก “เอาเคล็ด” ไว้ตามทิศทางต่าง ๆ ภายในบริเวณบ้านภายหลังจากปลูกบ้านหลังใหม่เสร็จ ซึ่งเชื่อกันว่า ถ้าปลูก “ต้นไม้มงคล” เหล่านี้แล้ว ก็จะมีแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ทรัพย์สินเงินทองไหลมาเทมา และพ้นภัยอันตรายจากทุกข์โทษทั้งปวง

เวลาปลูกบ้าน คนโบราณเขาจะดูทิศทางที่ตั้ง เวลาปลูก “ต้นไม้มงคล” ก็จะปลูกตามทิศทางเหมือนกัน ไม่ได้ปลูกเรื่อยเปื่อยแบบไม่มีหลักมีเกณฑ์ หรือนึกจะปลูกต้นอะไรปลูกตรงไหนก็ปลูกกันได้ตามใจชอบ

ปู่ย่าตายายบรรพบุรุษของเรา ท่านยึดหลักในการปลูก “ต้นไม้มงคล” ดังนี้

ทิศ “อุดร” ของบ้าน ซึ่งก็คือทิศเหนือนั่นแหละครับ ท่านให้ปลูก “ต้นหัวว่าน” “ต้นฝรั่ง”และ “ต้นหมากผู้-หมากเมีย” ไว้ป้องกันอาคม เวทมนตร์คุณไสยต่าง ๆ ใครจะเข้ามาคิดร้ายไม่ได้เลย

ทิศ “ทักษิณ” ของบ้าน หรือทิศใต้ ให้ปลูก “ต้นมะม่วง”, “ต้นมะพลับ” และ “ต้นตะโก” ป้องกันคนมารังแก รังควาน หาเรื่องเล่ห์-เพทุบายมาสู่

ทิศ “บูรพา” ของบ้าน คือทิศตะวันออก ให้ปลูก “ต้นไผ่สีสุก”, “ต้นกุ่ม” และ “ต้นมะพร้าว” เชื่อว่าจะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ไม่ให้มารบกวนคนในบ้านได้ และ “ต้นไผ่สีสุก” มีชื่อเป็นมงคล ออกเสียงคล้ายคำว่า “มั่งมีศรีสุข” ส่วน “ต้นกุ่ม” ก็จะเก็บเงินได้เป็นกลุ่ม (กุ่ม) ก้อน

ทิศ “ประจิม” ของบ้าน หรือทิศตะวันตก ให้ปลูก “ต้นมะยม”, “ต้นมะขาม” และ “ต้นพุทรา” ป้องกันเป็นถ้อยคดีความ ผีซ้ำด้ำพลอย ถูกคุณไสยต่าง ๆ กันได้สารพัด “ต้นมะขาม” เป็นเคล็ดทำให้คนเกรงขามครั่นคร้าม “ต้นมะยม” จะมีคนนิยม หรือมีนะเมตตามหานิยม ทำให้คนนิยมชมชอบไม่สร่างซา ตามเสียงมงคลของ “ต้นพุทรา”

ทิศ “อีสาน” ของบ้าน หรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ปลูก “ต้นทุเรียน”, “ต้นมะตูม” และให้ขุดบ่อน้ำไว้ ป้องกันโรคห่า โรคระบาด ไม่ให้เกิดแก่คนในบ้าน อีกทั้ง “ต้นทุเรียน” ก็เป็นเคล็ดหมายถึง ความเป็นผู้รู้ ผู้คงแก่เรียน

ทิศ “อาคเนย์” หรือทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้าน ให้ปลูก “ต้นยอ”, “ต้นสารภี” และ“ต้นกระถิน” จะป้องกันเสนียดจัญไร เภทภัยอันตรายอื่น ๆ ชื่อมงคลของ “ต้นยอ” ทำให้คนในบ้านจะมีผู้คนสรรเสริญเยินยอ “ต้นสารภี” เป็นต้นไม้ยืนต้นอายุยืน ก็เป็นเคล็ดให้คนในบ้านอายุยืนยาว

ทิศ “พายัพ” ของบ้าน คือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ให้ปลูก “ต้นส้มเขียวหวาน”, “ต้นส้มซ่า”, “ต้นส้มป่อย”, “ต้นมะกรูด” และ “ต้นมะพูด” ป้องกันศัตรูหมู่ปัจจามิตรที่คิดเข้ามาปองร้าย และ“ต้นมะพูด” ก็เป็นเคล็ดให้ลูกหลานเป็นคนช่างพูดช่างเจรจา (ปากเป็นเอก)

สำหรับ “ต้นขนุน”, “ต้นคูณ”, “ต้นพิกุล” และ “ต้นสะเดา” เขาให้ปลูกไว้ทางทิศ “หรดี” ของบ้าน ซึ่งก็คือทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพราะเชื่อว่าจะป้องกันภูตผีปีศาจ และโทษโพยภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะมีคนใส่ร้ายป้ายสี และที่สำคัญ “ขนุน” มีชื่อเป็นเคล็ด เมื่อปลูกแล้วจะมีคนสนับสนุนให้เจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้าไปในทางที่ดีทั้งส่วนตัวและหน้าที่การงาน

ทั้งหมดทั้งปวงที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ผมว่าเชื่อโบราณเอาไว้บ้างก็ไม่เสียหายแต่ประการใด เพราะอย่างน้อย ๆ “ต้นไม้มงคล” เหล่านี้ ก็ให้ประโยชน์ในด้านการทำเครื่องจักสาน เครื่องใช้ไม้สอยได้สารพัด รวมทั้งใช้รับประทานเป็นอาหาร และเป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วย อีกอย่าง “กระถิน”, “สะเดา” ก็เป็นผักรับประทานแกล้มกับน้ำพริกอร่อย ผลไม้ก็ “มะยม”, “พุทรา”, “มะขาม”, “มะม่วง”, “ส้มเขียวหวาน” และ “ขนุน” ให้วิตามินและเกลือแร่แก่ร่างกาย

สำหรับ “ขนุน” รับประทานได้ทั้งผลสุกและผลดิบ “ขนุนสุก” รสชาติหวานหอมกรอบอร่อย ส่วน “ขนุนดิบ” (ผลอ่อน ๆ) เอามาทำเป็นกับข้าวก็เจริญอาหารดีเหมือนกันครับ

“ต้นขนุน” จัดว่าเป็น “ต้นไม้มงคล” ชนิดหนึ่งในหลาย ๆ ชนิด ที่ท่านปู่ย่าตายายบรรพบุรุษของเรา นิยมปลูกไว้ภายในบริเวณบ้าน ด้วยความเชื่อที่ว่า “ขนุน” มีชื่อเป็นเคล็ด เมื่อปลูกแล้วจะมีคนสนับสนุน ทำให้เจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้าไปในทางที่ดี ทั้งทางส่วนตัว และในหน้าที่การงาน

“ขนุน” รับประทานได้ทั้งผลสุกและผลดิบ ขนุนสุกรสชาติหวานหอมกรอบอร่อย ส่วนขนุนดิบผลอ่อน ๆ เอาไปทำเป็นกับข้าวได้หลายอย่าง ทั้ง ต้ม ตำ ยำ แกง ให้รสชาติอร่อยไม่แพ้ขนุนสุกเช่นกัน

เครื่องปรุง “แก๋งขนุน”

ขนุนดิบอ่อน ๆ ผลขนาดพอเหมาะพอมือ 1 ผล มะขามเปียก 1 กำ กระดูกซี่โครงหมูครึ่งกิโลกรัม พริกแห้ง 7-8 เม็ดหรือพริกขี้หนูแห้ง 1 กำมือ หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว ตะไคร้ 1 ต้น ข่า 5 แว่น รากผักชี 4-5 ราก กะปิดี 1 ช้อนโต๊ะ มะเขือเทศ 15 ลูก ใบชะพลู และผักชะอม

วิธีปรุง “แก๋งขนุน”

ก่อนอื่น เอาขนุนดิบอ่อน ๆ ทุบเบา ๆ ให้ทั่ว แล้วปอกเปลือกหนา ๆ ทิ้งไป ผ่าเอาแกนกลางออก ล้างด้วยน้ำมะขามเปียก เสร็จแล้วหั่นขนุนเป็นชิ้น ๆ พอดีคำ (ไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป) ใส่หม้อพร้อมกับกระดูกซี่โครงหมูครึ่งกิโลกรัมสับเป็นชิ้น ๆ เติมน้ำพอท่วม ต้มไฟอ่อนเคี่ยวจนขนุนเปื่อยได้ที่

เอาพริกแห้ง 7-8 เม็ดหรือพริกขี้หนูแห้ง 1 กำมือก็ได้ (แช่น้ำจนนิ่ม บีบให้แห้ง) หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว ตะไคร้หั่นฝอย 1 ต้น ข่า 5 แว่น รากผักชี 4-5 ราก กะปิดี 1 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นนิดหน่อย ใส่ครกตำให้ละเอียดเข้ากันดีจนได้ที่ ใส่มะเขือเทศ 15 ลูกผ่าสี่ ใช้สากบดในครก (ห้ามตำ) จนเข้ากันดี ตักใส่หม้อขนุนที่ต้มจนเปื่อยได้ที่ คนให้ทั่ว ต้มให้เดือดอีกครั้ง ปรุงรสด้วยเกลือป่น รสดี ใส่ใบชะพลูหั่นหยาบ ๆ และ “ผักหละ” (ชะอม) ลงไป ปิดฝาหม้อสักครู่แล้วยกลงจากเตา รีบเปิดฝาหม้อทันทีเพราะถ้าปิดทิ้งไว้ ชะอมจะเหลืองซีดไม่น่ากิน