ยินดีต้อนรับทุกๆท่าน Welcome to...



วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

018 น้ำพริกปล๋าหลิม


บางท่านอาจจะสงสัยว่า “ปล๋าหลิม” มันเป็นปลาอะไรกัน เพราะไม่เคยได้ยินชื่อหรือคุ้นหูมาก่อน “ปล๋าหลิม” เป็นชื่อที่ชาวเหนือใช้เรียก “ปลาช่อน” ยังไงครับ “ปลาช่อน” ก็คือ “ปล๋าหลิม” และ “ปล๋าหลิม” ก็คือ “ปลาช่อน” นั่นเอง ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่มีรสชาติอร่อยกว่าปลาชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเอามาย่าง มาปิ้ง มาทอด มาแกง หรือแม้กระทั่งเอามาตำเป็นน้ำพริก มันเอร็ดอร่อยไปหมด เรียกว่า “ปล๋าหลิม” เป็นปลาสุดยอดอร่อยของปลาน้ำจืดก็ว่าได้

สมัยยังเด็กๆ คุณแม่สอนให้ผมรู้จักช่วยเหลือตัวเองไม่ให้เป็นภาระแก่ใคร ๆ ท่านบอกว่า “เมื่อโตขึ้นจะได้ไม่ลำบาก” หน้าที่ประจำวันของผมที่ได้รับมอบหมายจากคุณแม่ในขณะนั้น ผมต้องตื่นนอนแต่เช้ามืดทุก ๆ วัน สิ่งแรกที่ผมต้องทำหลังจากล้างหน้าแปรงฟันและเก็บที่นอนหมอนมุ้งให้เข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้วก็คือ ก่อไฟที่เตาไฟเพื่อนึ่งข้าวเหนียว ซึ่งจะต้องแช่ข้าวสารค้างคืนตั้งแต่คืนก่อนหรือก่อนนอน เสร็จแล้วจึงจะรีบไปจ่ายตลาด แล้วรีบกลับมาทำกับข้าว เมื่อรับประทานข้าวเช้าเรียบร้อยแล้ว จึงจะแต่งชุดนักเรียนและสะพายกระเป๋าหนังสือเดินเท้าไปโรงเรียนซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณครึ่งกิโลเมตร

ผมมีชุดนักเรียนที่คุณแม่ซื้อให้ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่หนึ่ง 4-5 ชุด ในวันหยุดเรียนประจำสัปดาห์ ผมจะจัดการซัก-รีดด้วยตัวเอง ส่วนชุดอยู่กับบ้าน เสื้อผ้าของคุณพ่อคุณแม่และคนอื่น ๆ ในบ้าน คุณแม่จะเป็นคนซัก-รีดเอง

กางเกงสีกากีตัวเก่งของผม ตัดจากผ้าเวสป้อยท์เนื้อหนา ส่วนเสื้อเชิ้ตสีขาวก็ตัดจากผ้าลินินซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า “ผ้าริมเขียว” ทั้งหมดเป็นชุดนักเรียนที่ทนทานเอามาก ๆ ท่านเชื่อไหมครับ ชุดนักเรียนทั้ง 4-5 ชุดที่ผมมีอยู่นี้ ผมใส่มันตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่หนึ่งจนถึงชั้นมัธยมปีที่หกแน่ะ เริ่มตั้งแต่มันยาว ๆ หลวม ๆ จนกระทั่งมันสั้นและคับติ้วเลยทีเดียวเชียว เวลาซักชุดนักเรียนที่ใช้แล้วเสร็จ ก่อนจะนำไปตากแดด ผมจะ “ลงแป้ง” (ใช้แป้งมัน 2 หรือ 3 ทัพพี ละลายน้ำพอสมควร แล้วราดด้วยน้ำต้มเดือดหนึ่งกา ใช้ไม้คนให้เข้ากันจนน้ำแป้งสุกเหลว ก่อนใช้ผสมน้ำนิดหน่อย เมื่อซักผ้าน้ำสุดท้ายแล้ว จึงนำผ้าทั้งหมดลงแช่สักครู่ เหมือนกับแช่น้ำยาปรับผ้านุ่มนั่นแหละซึ่งสมัยนั้นยังไม่มี แล้วบิดผ้าที่แช่พอหมาด ๆ สะบัดผ้าให้เรียบตึงก่อนจะนำไปตากแดดให้แห้ง) เวลารีดต้องพรมน้ำแต่เบาบางเพื่อให้ผ้าชื้นเสียก่อน จึงจะรีดให้ผ้าเรียบจนขึ้นกลีบคมกริบได้ เวลาใส่เท่อย่าบอกใครเชียว แต่ถ้าวันไหนฝนตกแล้วหลบไม่ทันจนเปียกไปทั้งตัว น้ำแป้งที่ลงไว้มันจะพากันละลายออกมาจากเสื้อและกางเกงที่สวมใส่จนรู้สึกเหนียวเหนอะหนะไปทั้งตัว และคันยุบ ๆ ยิบ ๆ ไปหมด

ในวันหยุดเรียนประจำสัปดาห์ หลังจากเสร็จกิจวัตรประจำวันแล้ว ตอนบ่าย ๆ ผมจะว่าง ซึ่งส่วนมากผมจะนั่งอ่านหนังสืออยู่ใต้ต้นลำไยที่ปลูกไว้ภายในบริเวณบ้าน หนังสือที่อ่านมีทั้งหนังสือเรียน หนังสือนิยายเรื่องอ่านเล่น ซึ่งสมัยนั้นหนังสือชุด “พล-นิกร-กิมหงวน” กำลังฮิตติดอันดับ ผมติดตามอ่านมาตลอดจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะอ่านแล้วรู้สึกตลกขบขัน เป็นการคลายเครียดที่ดีเยี่ยมอีกวิธีหนึ่งด้วยเช่นกันครับ

แต่จะมีบ้างเป็นบางครั้ง ที่เพื่อน ๆ จะมาชวนไปเที่ยว หรือไม่ก็ชวนไปตกปลาสถานที่ไปตกปลาก็ตามห้วยหนองคลองบึงหรือตามท้องทุ่งท้องนาใกล้ ๆ บ้าน ส่วนมากจะตามท้องทุ่งท้องนามากกว่า เฉพาะเจาะจงต้องเป็นท้องทุ่งท้องนาของคุณย่าของผมเอง (ซึ่งต่อมา “ที่นา” เหล่านี้เป็นมรดกของคุณพ่อ และปัจจุบันตกทอดมาถึงผม)

ในสมัยนั้น ถ้าพูดกันถึงเรื่องข้าวปลาอาหารการกินกันแล้ว มันมีอยู่มากมายอย่างเหลือเฟือจริงๆ เท่าที่จำได้ประชาชนทั้งประเทศในสมัยนั้นทั้งหญิงและชายมีรวมกันแค่สิบหกล้านคนเท่านั้นเอง ถึงกับมีคำพูดที่พูดกันจนติดปากว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” สำหรับปลาหายห่วงไปได้เลยมีชุกชุมมากมาย ผู้คนส่วนมากจะเลือกกินเฉพาะปลาตัวใหญ่ ๆ ตัวโต ๆ ที่มีขนาดเท่าท่อนแขนของผู้ใหญ่ขึ้นไปเท่านั้น ส่วนปลาเล็กปลาน้อยตัวขนาดนิ้วสองนิ้วเมินเสียเถอะ ถ้าตกได้หรือจับได้ก็จะปล่อยลงห้วยหนองคลองบึงหรือแม่น้ำลำคลองไปทั้งหมด

พูดถึงเรื่อง “ปล๋าหลิม” ในอดีตสมัยยังเด็ก ๆ ของผมนั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งเช้าวันอาทิตย์เป็นวันหยุดเรียนประจำสัปดาห์ ในวันนั้นผมได้ขออนุญาตคุณแม่ออกไปตกปลากลางทุ่งกับเพื่อน ๆ ที่มาชวน ขณะกำลังเดินไปตามถนน ผมและเพื่อน ๆ เกิดเปลี่ยนใจกะทันหัน ตกลงจะไม่ไปตกปลากันละ แต่จะชวนกันนั่งรถยนต์โดยสารประจำทางไปเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่แทน ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดลำพูนเพียง 26 กิโลเมตร ได้ดูหนังไทยหนึ่งรอบที่โรงหนัง “สุริวงศ์” เดินชมสินค้าในร้านค้าที่ถนนท่าแพ แล้วแวะเข้าตลาด “ต้นลำไย” โผล่เข้าไปตลาด “วโรรส” เพื่อซื้อหาข้าวเหนียวนึ่งร้อน ๆ จิ๊นทอด และน้ำพริกหนุ่ม มานั่งรับประทานกันที่สวนหย่อมใต้สะพาน “นวรัตน์” หลังจากที่วิ่งไล่กันจนเหนื่อย ในวันนั้นเป็นวันที่พวกเราสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจอย่างที่สุดเชียวแหละ เที่ยวกันเพลินกว่าจะกลับกันได้ก็เกือบจะมืดค่ำแล้ว พอก้าวลงจากรถประจำทางสายเชียงใหม่-ลำพูน มีเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้ไปเที่ยวด้วยมากระซิบบอกผมว่า คุณพ่อคุณแม่ของผมกำลังตามหาตัวผมกันจ้าละหวั่นอย่างเคร่งเครียด ด้วยความกลัวว่าจะถูกทำโทษฐานโกหก ผมจึงรีบปลีกตัวจากเพื่อน ๆ เข้าไปใน “กาดแลง” ซึ่งตลาดเกือบจะวายอยู่แล้ว เปล่า...ผมไม่ได้เข้าไปหลบซ่อนตัวนะครับ โปรดอย่าเข้าใจผิด ผมเข้าไปเพื่อหาซื้อ “ปล๋าหลิม” เลือกเอาตัวใหญ่ที่สุดได้มา 2-3 ตัว จึงรีบหิ้วกลับบ้านไปทันที

ตกลงวันนั้นผมรอดจากการถูกทำโทษจากคุณพ่อคุณแม่ไปได้

ที่รอดก็เพราะ... ก้าวแรกที่ผมเดินเข้าไปในบริเวณบ้าน สีหน้าของผมคิดว่ามันคงจะขาวซีดด้วยความกลัว ส่วนหัวใจก็เต้นระรัวเหมือนพระตีกลองเพล สองมือที่หิ้วปลาทั้งพวงนั้นเล่าก็สั่นผับ ๆ พอ ๆ กับขาทั้งสองข้าง คุณพ่อยืนจ้องหน้าผมเขม็ง ส่วนคุณแม่มองผมด้วยสายตาแห่งความห่วงอาทร และท่านคงจะสังเกตเห็น แต่ก่อนที่คุณพ่อจะทันพูดอะไรออกมา คุณแม่รีบตัดบททันที

“แลงนี้ต๋ำน้ำพริกปล๋าหลิมกั๋นเต๊อะ”

โดยปกติคุณพ่อของผมท่านเป็นคนมือหนัก ผมกลัวเพราะท่าน “ตี” เจ็บ เนื่องจากท่านต้องหิ้วตราประจำตัวเพื่อประทับท่อนไม้เดือนหนึ่ง ๆ เป็นร้อย ๆ ต้น ผมเคยทดลองยกดู ตราประทับแต่ละอันมันหนักเป็นกิโล ๆ (ท่านรับราชการเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้)

ด้วยความรักความผูกพันที่คุณแม่มีต่อลูกชายหัวปลีตัวดีของท่านคนนี้ ซึ่งท่านคงมองเห็นสภาพของผมในขณะนั้นเพียงแว๊บเดียว ผมคิดว่าคงจะล้วงลึกเข้าไปรับรู้ถึงในหัวอกหัวใจที่เต้นไม่เป็นจังหวะของผม ท่านจึงแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียดในขณะนั้นให้ผ่อนคลายลง ซึ่งที่สุดคุณพ่อก็โอนอ่อนผ่อนตามแต่โดยดี

นี่แหละครับที่เขาว่า...

“ความรักของพ่อแม่ ยิ่งใหญ่นักปานขุนเขา”

“สองมือแม่มีความรัก พร้อมตักที่แสนอบอุ่น”

“หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย”

และอีกประการหนึ่ง เป็นเพราะ “น้ำพริกปล๋าหลิม” เป็นกับข้าวโปรดของคุณพ่อของผมด้วย ถ้ามื้อไหนมีวางบน “ขันโตก” ท่านจะเจริญอาหารรับประทานได้เป็นสองเท่าเลยทีเดียว

โดยธรรมชาติของ “ปล๋าหลิม” หรือ “ปลาช่อน” มันเป็นปลาที่ดูแลครอบครัวของมันเองได้อย่างน่าชื่นชมทีเดียว ทั้งพ่อปลาและแม่ปลาต่างจะช่วยกันดูแล คอยว่ายวนเวียนเฝ้าดูฝูงลูก ๆ ของมัน เพื่อไม่ให้ปลาอื่น ๆ ว่ายเข้ามาใกล้ และขโมยลูก ๆ ของมันไปกิน พอมันเห็นปลาอื่น ๆ ว่ายเข้ามาใกล้ พ่อปลาและแม่ปลาก็จะรีบเข้าไปขับไล่ทันที หรือไม่ก็กัดกินปลาอื่น ๆ ที่ว่ายเข้ามาใกล้เป็นอาหารของมันไปเสียเลย

และนับเป็นเวรเป็นกรรมของ “ปล๋าหลิม” หรือ “ปลาช่อน” อีกอย่างหนึ่ง ที่มันต้องผุดขึ้นมาสูดลมหายใจที่ผิวน้ำอยู่บ่อย ๆ ครั้ง ซึ่งเป็นเพราะมันหายใจใต้น้ำด้วยเหงือกเหมือนอย่างปลาอื่น ๆ ไม่ได้ จึงเป็นโอกาสของมนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่จะจับมันมาเป็นอาหารได้อย่างง่ายดาย

เฮ้อ...อนิจจัง...เวรกรรม...เวรกรรม...แล้วจะกินมันลงหรือนี่...

แต่...อย่าคิดอะไรมากครับท่าน ถึงอย่างไรมันก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่จะต้องเกิดมาเพื่อเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งให้มนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ได้กินเป็นอาหารอยู่นั่นเอง...

แฮ่...แฮ่...ขออโหสิกรรม...

เครื่องปรุง “น้ำพริกปล๋าหลิม”

ปล๋าหลิมหรือปลาช่อนตัวใหญ่ 1 ตัว กะปิดี 1 ช้อนโต๊ะหรือปลาร้าตัวเล็ก ๆ 2-3 ตัว พริกหนุ่ม 10 เม็ด หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว มะนาว 1-2 ลูก ต้นหอม-ผักชี ผักกาดขาว ใบบัวบก ถั่วฝักยาว แตงกวา และมะเขือเปราะอ่อน ๆ ตามใจชอบ

วิธีปรุง “น้ำพริกปล๋าหลิม”

เอาปล๋าหลิมหรือปลาช่อนตัวใหญ่ 1 ตัว ขอดเกล็ดผ่าท้องควักไส้ทิ้ง ใช้มีดคม ๆ บั้งตามลำตัว ใส่กระทะเติมน้ำพอท่วม ยกตั้งไฟต้มจนสุก แล้วตักปลาใส่จานไว้ น้ำต้มปลาที่เหลืออย่าทิ้ง เอากะปิ 1 ช้อนโต๊ะหรือปลาร้าตัวเล็ก ๆ 2-3 ตัวใส่ลงไป ต้มให้เดือดอีกครั้ง กรองเอาแต่น้ำใส่ถ้วยเตรียมไว้

พริกหนุ่ม 10 เม็ด หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว เผาไฟจนสุกหอมได้ที่ (ใช้คั่วในกระทะก็ได้ไม่ต้องใส่น้ำมัน) ลอกเปลือกดำ ๆ ทิ้ง แล้วเอาทั้งหมดใส่ครกตำรวมกันจนแหลกได้ที่ แกะเนื้อปลาที่ต้มไว้ใส่ลงไปในครก ตำให้เข้ากัน เอาน้ำต้มปลาที่กรองใส่ถ้วยเตรียมไว้ใส่ลงไปพอขลุกขลิก บีบมะนาวสัก 1-2 เสี้ยว ปรุงรสด้วยรสดี น้ำปลา กะให้เค็มนำ เผ็ดตาม เปรี้ยวนิดหน่อย และหวานธรรมชาติ (ไม่ใส่น้ำตาล) ตักใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยต้นหอม-ผักชีหั่นฝอย

รับประทานแกล้มกับ “ผักสด” เช่น ผักกาดขาว ใบบัวบก ถั่วฝักยาว แตงกวา และมะเขือเปราะอ่อน ๆ อร่อยแซบ...อย่าบอกใครเชียวครับคุณ