ยินดีต้อนรับทุกๆท่าน Welcome to...



วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

009 แคบหมู




กีฬากลางแจ้งยอดฮิตติดอันดับที่นิยมเล่นกันในเวลาพักหลังจากกินข้าวมื้อกลางวันเสร็จ (11.00 ถึง 12.00 น.) ในโรงเรียนระดับชั้นมัธยมที่ผมเรียนอยู่นอกเหนือจาก บาสเก็ตบอล วอลเล่ย์บอล ฟุตบอล บาร์เดี่ยว บาร์คู่ และ ปิงปอง แล้ว “ฮ็อกกี้” ก็เป็นกีฬาอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเล่นไม่แพ้กัน

สนาม “ฮ็อกกี้” ทำได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากอะไร โดยภารโรงประจำโรงเรียนจะเอาไม้สักหรือไม้แดง (สมัยนั้นมีมาก) หนาประมาณหนึ่งนิ้วครึ่ง หน้ากว้างห้านิ้ว มากั้นเป็นคอกสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดหนึ่งเมตรคูณสองเมตร ตรงหัวและท้ายของคอกสี่เหลี่ยมผืนผ้าเจาะรูตรงกลางคล้ายกับปากถ้ำทำเป็นประตูเพื่อให้“ลูกฮ็อกกี้” ลอดผ่านได้สะดวก แล้วเอาไม้สักหรือไม้แดงขนาดเดียวกันยาวหนึ่งเมตร มาแบ่งกลางครึ่งคอกให้เป็นสองส่วนหรือสองเขตหรือสองแดนหรือสองฝ่าย และเจาะรูคล้ายกับปากถ้ำทำเป็นประตูเหมือนกันอีกสองรู ให้แต่ละรูอยู่ห่างจากด้านข้างของคอกข้างละยี่สิบห้าเซนติเมตร

สำหรับไม้ที่ใช้ตีหรือเขี่ย “ลูกฮ็อกกี้” ให้เข้าไปเล่นในเขตในแดนหรือเข้าประตูของฝ่ายตรงข้าม ทำจากท่อนไม้ไผ่ขนาดพอเหมาะกับฝ่ามือ โดยขุดเอามาทั้งรากดัดให้งอพองามแล้วตัดให้สั้น ให้มีด้ามสำหรับไว้ถือไว้จับยาวประมาณหนึ่งเมตร

ส่วน “ลูกฮ็อกกี้” ก็ทำมาจากไม้สักหรือไม้แดงที่กลึงให้กลมเหมือนลูกบิลเลียด มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณสองนิ้ว

กีฬา “ฮ็อกกี้” ใช้คนสองคน ยืนเล่นคนละด้านของคอก และหันหน้าเข้าหากัน โดยแต่ละฝ่ายจะใช้ไม้ตีหรือเขี่ยลูกให้เข้าไปเล่นอยู่ในเขตแดนของฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ทางด้านซ้ายมือ และตีลูกให้เข้าประตูได้ ก็จะเป็นผู้ชนะ ขณะเดียวกันก็ระวังรักษาประตูในเขตแดนของตัวเองที่อยู่ทางด้านขวามือด้วยเช่นกัน

เสียงไม้ตีและลูกฮ็อกกี้กระทบกับคอกดังโป๊กเป๊ก สลับกับเสียงร้องเชียร์ของเพื่อน ๆ ที่มายืนมุงดู เสียงดังโหวกเหวกโวยวายจนรู้สึกหนวกหูในตอนเที่ยงวัน เป็นที่สนุกสนานเฮฮากันทั่วหน้า

ไม้ตีหรือไม้เขี่ยลูกฮ็อกกี้ซึ่งมีด้ามถือที่พอเหมาะกับฝ่ามือของคู่แข่งขัน นอกจากจะใช้ตีหรือเขี่ยลูกฮ็อกกี้ให้เข้าประตูของฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังใช้สำหรับขัดขวางหรือกันไม้ของฝ่ายตรงข้ามไม่ให้เขี่ยหรือตีลูกฮ็อกกี้ได้สะดวกอีกด้วย

คู่ต่อสู้กำลังเล่นกันสนุกสนานมันเข้าที่ ต่างฝ่ายต่างพยายามเขี่ยลูกฮ็อกกี้ให้เข้าไปเล่นในแดนของฝ่ายตรงข้าม เขี่ยลูกฮ็อกกี้กลับไปกลับมา และใช้ไม้ตีกันกันไปกันกันมา ยื้อกันไปยื้อกันมาตามแรงสู้ของทั้งคู่ เมื่อทำอะไรกันไม่ได้ แถมแดดตอนเที่ยงวันก็ร้อนสุด ๆ จนเหงื่อเม็ดโป้งผุดออกมาท่วมตัวอีก อารมณ์ “ยั๊วะ” ก็ชักจะเกิดขึ้นมาทั้งสองฝ่าย เลือดฉีดขึ้นหน้าจนแดงเป็นลูกตำลึงสุก ต่างฝ่ายต่างหยุดเล่น ยืนประจันหน้าจ้องตากันเขม็ง

หนัก ๆ เข้า ไม่เขี่ยไม่เขื่อ ไม่ตงไม่ตีลูกฮ็อกกี้มันแล้ว ใช้ไม้ตีหรือเขี่ยลูกนี่แหละกำลังเหมาะมือพอดี ฟาดกันเข้าไปเลย เสียงดังตุบตับตุบตับ

เพื่อน ๆ ที่ยืนร้องเชียร์อยู่ข้าง ๆ ทั้งสองฝ่ายตกใจจนหน้าถอดสีที่เห็นเหตุการณ์เปลี่ยนไป รีบเข้าห้ามทัพทันทีทันควัน ก่อนที่คุณครูผู้ปกครองจะเห็น และเรียกไปลงโทษลงทัณฑ์

คู่กรณีเถียงกันไปเถียงกันมาสักครู่ต่างก็ถอยทัพเลิกแล้วต่อกัน ต่างคนต่างแยกย้ายเข้าห้องเรียนของตัวเองไป เมื่อได้ยินเสียงระฆังหมดเวลาพักดังขึ้น

ผมเองก็เคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้เหมือนกัน แต่เป็นเพราะผมเป็นคนไม่ยอมคนง่าย ๆ จึงท้าทายหลังเลิกเรียนแล้วให้ข้ามฝั่งแม่น้ำกวงไป “พบกัน”

แม่น้ำกวงฝั่งตะวันออกในสมัยนั้น รกเป็นป่าต้นพุทราขึ้นหนาแน่น หลังเลิกเรียนหรือในวันหยุด จะเป็นที่นัดพบของเด็ก ๆ ข้ามไปเก็บพุทรากินอย่างเอร็ดอร่อย และเป็นที่วิ่งไล่กันอย่างสนุกสนาน

แม่น้ำกวงหน้าน้ำหลาก น้ำจะเต็มฝั่งไหลเชี่ยวหน้ากลัว แต่ถ้าเป็นหน้าแล้ง น้ำจะแห้งขอดจนมองเห็นพื้นทราย และเดินข้ามไปมาได้อย่างสบาย ๆ

สมัยเมื่อสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ก็มีการยกพวก “ตีกัน” เหมือนสมัยนี้เหมือนกันนะครับ แต่ส่วนมากคู่กรณีจะเป็นนักเรียนโรงเรียนเดียวกัน ไม่ได้อยู่ต่างโรงเรียนเหมือนสมัยนี้ แล้วอาวุธยุทโธปกรณ์อะไรกันนั่นก็ไม่เคยใช้ หรือยังใช้กันไม่เป็น จึงคงใช้กันแต่ “หมัดกับตีน” ของตัวเองนั่นแหละเป็นอาวุธหลัก

บ่ายสี่โมงครึ่งวันนั้นหลังเลิกเรียน ผม, คู่กรณี กับเพื่อน ๆ รวม 8 คน (ฝ่ายละสี่คน) ก็พากันข้ามฝั่งแม่น้ำกวง เปิดฉาก “ตะลุมบอน” กันจนขี้ฝุ่นฟุ้งตลบอบอวลไปหมด จนกระทั่งปากเปิกหัวหูหน้าตาแตกบวมโน ยับเยินกันไปทั้งสองฝ่าย “เจ็บ” พอ ๆ กัน

เช้าวันรุ่งขึ้น ที่หน้าเสาธงหลังจากเคารพธงชาติแล้ว คุณครูผู้ปกครองก็เรียกตัว “นักบู๊” ทั้ง 8 คนแห่งลุ่มแม่น้ำกวง ให้ออกมารับรางวัล “ไม้เรียว” อย่างดีหวดก้นคนละ 3 ขวับ แถมเสื้อให้อีกคนละตัว

ก็เป็นเสื้อของพวกเราทั้งหมดที่ถอดกองไว้ก่อนจะ “เลี๊ยะพะ” กันนั่นเอง แล้วรีบวิ่งหนีไม่ได้หยิบเอาไปด้วย เมื่อเหลือบไปเห็นคุณครูกำลังวิ่งข้ามแม่น้ำกวงมาแต่ไกล ๆ ยังไม่ทันเห็นหน้าตาของพวกเราชัด ๆ ด้วยซ้ำไป

เป็นไปได้อย่างไรที่คุณครูจะทราบว่าพวกเราเป็นใครกันบ้าง ผมนึกแค้นคน “ช่างฟ้อง” อยู่ในใจ ถ้ารู้ตัวจะจัดการให้เข็ด จึงถามว่า คุณครูรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพวกผม ไม่ตกหล่นสักคนเดียว คุณครูทำตาเขียวเข้าใส่ ก่อนจะตอบว่า “หนึ่งเก้าศูนย์ศูนย์บนหน้าอกเสื้อของเธอนั่นไง”

สมัยนั้น ไม่นิยมปักชื่อ-นามสกุล แต่จะปักหมายเลขประจำตัวใต้อักษรย่อชื่อโรงเรียนบนหน้าอกเสื้อแทน

ผลของการ “ตะลุมบอน” กันในคราวนั้น นอกจากจะเจ็บก้นเพราะฤทธิ์ไม้เรียวอย่างดีของคุณครูแล้ว ปากยังแตกบวมเจ่ออีก อดกิน “น้ำพริก” ของโปรดไปหลายวัน

“น้ำพริก” ของชาวเหนือทุกชนิด สิ่งที่ขาดไม่ได้คือกับแกล้มซึ่งมักจะหนีไม่พ้น “แคบหมู” ที่ใช้หนังหมูทอดให้พองตัวจนกรอบอร่อยเคี้ยวดังกรุบ ๆ กรับ ๆ วางเคียงคู่มาบน “ขันโตก” พร้อมกับ “ผักสด” และ “ผักต้ม” เสมอ

“แคบหมู” ถ้าทำและทอดให้ถูกวิธี ก็จะง่ายดายดังเนรมิต ใส่ปุ๊บพองตัวปั๊บ แต่ถ้าทำและทอดไม่ถูกวิธี ไม่ว่าจะพลิกแพลงหรือบนบานศาลกล่าวอย่างไร มันก็จะแฟบ ๆ แข็ง ๆ อยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงรูปร่าง

เคล็ดลับมีอยู่นิดเดียว ง่ายมาก ๆ

เครื่องปรุง “แคบหมู”

น้ำมันหมูพอสมควร และหนังหมูตรงส่วนหน้าท้องตามใจชอบ

วิธีทำ “แคบหมู”

เอาหนังหมูตรงส่วนหน้าท้อง เพราะหนังจะบาง นิ่ม ไม่แข็งมาก และอย่าให้เนื้อติด (เวลาทอดจะดำและขม) จัดการขูดขนให้เกลี้ยง ขนแข็งก็ใช้แหนบดึงออกมา เสร็จแล้วหั่นเป็นท่อน ๆ ให้ได้ขนาดหนึ่งนิ้วคูณสองนิ้ว ใช้ตะปูแทง ๆ สัก 4-5 รู เอาใส่กระทะเติมน้ำพอท่วม ยกตั้งเตา เคี่ยวไฟปานกลางจนกระทั่งน้ำเริ่มแห้งจะมีน้ำมันแตกออกมา รักษาระดับไฟให้พอดี (ไฟแรงก็ลดลง ไฟอ่อนก็เพิ่มขึ้น) ระวังอย่าให้หนังหมูไหม้ติดก้นกระทะ เมื่อได้น้ำมันพอสมควร ดับไฟแล้วปล่อยให้หนังหมูแช่น้ำมันอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งน้ำมันเย็นลง

เวลาจะทอดให้หนังหมูพองตัว เริ่มต้นด้วยการตักหนังหมูที่แช่น้ำมันใส่ตะแกรงทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำมันก่อน

เอาน้ำมันใส่กระทะมากพอสมควร ตั้งไฟแรง พอน้ำมันร้อนจัดได้ที่ ก็โยนหนังหมูที่สะเด็ดน้ำมันแล้วลงไป

ฉับพลันทันใด...หนังหมูที่โยนลงไปก็จะพองตัวขึ้นมาทันที ใช้ไม้ปลายแหลม (ไม้ที่ใช้เสียบปลาดุกย่าง) พลิกหนังหมูที่พองตัวกลับไปกลับมา คะเนให้หนังหมูที่พองตัวสีเหลืองเข้มขึ้นนิดหน่อย ตักวางบนกระดาษทิชชู่เพื่อซับน้ำมันให้แห้ง ก็เป็นอันเสร็จ รับประทานได้ทันที